ติดตั้งโซล่าเซลใช้งานด้วยตนเอง ง่ายกว่าที่คิดเยอะ


 มีปัญหาที่ผมต้องตอบแทบทุกวัน คือต้องการติดตั้งโซล่าเซลเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าใช้งานที่บ้าน ต้องการให้ช่างของผมไปติดตั้งให้ จริงๆแล้วไม่ใช่ปัญหาครับ ถ้าคุณอยู่ใกล้ๆ ออฟฟิศผม แต่ในความเป็นจริง ลูกค้าส่วนใหญ่อยู่คนละจังหวัดและถึงขั้นอยู่ห่างไกลคนละภาคเลย ถ้าต้องการให้ช่างของผมไปติดตั้งให้จริงๆ ก็ไม่ใช่ปัญหาอีกนั่นแหละ แต่พอบอกค่าใช้จ่ายในการเดินทางซึ่งส่วนใหญ่จะแพงกว่าค่าสินค้าซะอีก ซึ่งคุณต้องรับภาระในส่วนนี้ด้วย หลายคนก็ถึงกับถอดใจ อย่างเช่นจะให้ผมเดินทางจากสุราษฎร์ธานี ไปไม่ต้องไกลมากหรอกครับ แค่ชลบุรี ระยะทางประมาณ 800 กิโลเมตร ไปกลับ 1,600 กิโลเมตร คุณว่าค่าใช้จ่ายในการเดินทางของช่างรวมคนขับรถ อย่างน้อย 2 คน ค่าน้ำมันรถ ค่าแรง ค่าที่พัก และค่าเบี้ยเลี้ยง งานนึงใช้เวลาเฉพาะเดินทางไปกลับก็ 2 วันเต็มๆ แล้ว ยังไม่นับเวลาทำงานที่อาจต้องใช้เวลา อีก 1 วัน  กว่าจะได้กลับสุราษฎร์ธานี อย่างน้อยก็เสียไปแล้ว 3 วันเต็มๆ รวมค่าใช้จ่ายทุกๆ อย่าง ถ้าเป็นคุณ เขาให้แค่ 10,000 บาท คุณจะไปไหมครับ อย่างน้อยก็ต้อง 15,000 บาทอัพ  ขณะที่ราคาสินค้าประมาณ 12,000 บาท ถ้าทำเองก็ไม่ต้องจ่ายค่าแรง แต่ถ้าใช้บริการช่างทั่วๆ ไปในพื้นที่ ก็เสียค่าแรงไม่เกิน 300 บาท  ทีนี้หลายๆ คนก็มักกังวลกลัวว่าจะติดตั้งโซล่าเซลไม่ได้ ถ้าอย่างนั้นมาดูกันครับว่าในการติดตั้งโซล่าเซลจริงๆแล้วมันยากหรือน่ากลัวอย่างที่คุณกังวลไหม


ในการติดตั้งโซล่าเซลเพื่อใช้งานจริง อุปกรณ์หลักที่ที่ต้องมีแน่ๆ ประกอบด้วย
1 แผงโซล่าเซล เพื่อใช้เป็นอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้า
2 คอนโทรลชาร์จ เพื่อใช้เป็นตัวควบคุมการจ่ายไฟจากแผงโซล่าเซลเข้าสู่แบตเตอรี่ และมีหน้าที่ช่วยยืดอายุการใช้งานให้แผงโซล่าเซลและแบตเตอรี่ด้วย
3 แบตเตอรี่ อันนี้จำเป็นมาก เพราะเป็นอุปกรณ์ที่ใช้เก็บไฟฟ้าที่โซล่าเซลผลิตได้เอาไว้ใช้ในเวลาที่ต้องการใช้ไฟฟ้าจริงๆ
4 อินเวอร์เตอร์ เพื่อทำหน้าที่เปลี่ยนไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโซล่าเซลที่เก็บไว้ในแบตเตอรี่ เป็นไฟฟ้าระบบ AC ที่ใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านทั่วๆ ไป


คอนโทรลชาร์จ
 สังเกตุที่คอนโทรลชาร์จในรูปด้านข้างให้ดีๆ นะครับ  จะเห็นว่ามีตำแหน่งต่างๆ เป็นรูปสัญลักษณ์เขียนไว้ชัดเจนเลย เรียงลำดับจากบนลงล่างดังนี้  3 รูปบนเป็นรูปแบตเตอรี่มีไฟแสดงสถานะ ไฟสีส้ม ติดช่องไหนก็แสดงว่า แบตเตอรี่ของเรามีไฟอยู่ที่ประมาณนั้น มี 3 ระดับคือ เต็ม ปานกลาง และใกล้หมด รูปหลอดไฟสีเขียวที่มีรัศมีคล้ายดวงอาทิตย์ถ้าติดก็แสดงว่ามีไฟฟ้าจากโซล่าเซลกำลังชาร์จไปที่แบตเตอรี่ ถ้าดับก็แสดงว่าไม่มีการชาร์จ  สาวนรูปหลอดไฟ2ดวงที่คู่กัน จะมีไฟสีแดง ถ้าไฟสีแดงนี้ติดขึ้นมาแสดงว่าแบตเตอรี่มีไฟฟ้าเหลือน้อยมากๆ ให้หยุดใช้ไฟฟ้าได้แล้ว รอจนกว่าจะมีไฟฟ้าชาร์จจนไฟสีส้มที่แสดงตำแหน่งแบตติดก่อนดีกว่าแล้วค่อยใช้งานต่อไป

ทีนี้มาดูแถวล่างสุด ก็จะมีรูปแผงโซล่าเซล รูปแบตเตอรี่และรูปหลอดไฟ(ใช้ต่อได้เฉพาะหลอดไฟDCเท่านั้น) ด้านข้างของแต่ละภาพก็จะมีเครื่องหมายบวกลบเขียนติดอยู่ รูปอะไรก็หมายความว่าเอาสายไฟจากอุปกรณ์นั้นๆ มาเชื่อมต่อที่จุดนั้นๆ แค่ต่อขั้วบวกเข้าบวก ขั้วลบเข้าลบ ก็เท่านั้นเอง เท่านี้การต่อโซล่าเซลใช้งานก็เสร็จเรียบร้อยแล้ว

หมายเหตุ คอนโทรลชาร์จรุ่นอื่นๆ อาจจะมีตำแหน่งต่างไปบ้าง แต่ก็จะมีรายละเอียดเหมือนหรือคล้ายๆ กันครับ ทีนี้มาดูเทคนิคการติดตั้งและใช้งานโซล่าเซลจริงๆ ที่ควรต้องรู้ กันดีกว่าครับ

เทคนิควิธีติดตั้งและใช้งานระบบโซล่าเซล ทำได้ง่ายๆ ตามลำดับ ดังนี้

1 ต่อสายไฟจากแบตเตอรี่เข้าคอนโทรลที่รูปแบตเตอรี่ ไฟแสดงสถานะของแบต(ไฟสีส้มในภาพที่2)จะติดทันที จะบอก 3 ระดับ คือ น้อย ปานกลาง และเต็ม
2 ต่อสายไฟจากแผงโซล่าเซลเข้าคอนโทรล ที่รูปแผงโซล่าเซล(รูปสี่เหลี่ยม) ไฟสถานะการชาร์จ(ไฟสีเขียวในภาพที่2) จะติดทันที
3 ต่อหลอดไฟ DC ไว้ใช้งานได้ (ถ้ามี) ที่รูปหลอดไฟ โดยมีปุ่มเปิดปิดที่ใต้รูปนาฬิกา หรือจะตั้งให้เปิดอัตโนมัติเมื่อมีแสงน้อยหรือใกล้มืด และจะดับเองเมื่อเริ่มสว่างหรือแบตเตอรี่อยู่ในสถานะไฟใกล้หมด (มีเฉพาะในบางรุ่น)
4 อุปกรณ์ที่กินไฟมากๆ เช่น อินเวอร์เตอร์ ต้องต่อตรงผ่านแบตเตอรี่เท่านั้น ห้ามต่อที่คอนโทรลชาร์จ
5 กรณีมีไฟเตือนสีแดงใต้รูปดวงไฟ แสดงว่าแบตเตอรี่ใกล้หมด ให้งดใช้ไฟฟ้าก่อนจนกว่าจะชาร์จใหม่

หมายเหตุ ในการติดตั้งให้ดูขั้วบวกลบให้ดี ห้ามต่อสลับขั้วเด็ดขาด  ซึ่งในความเป็นจริง มีภาพและเครื่องหมายเขียนชัดเจนมาก  ถ้าดูซักนิดก็จะเห็นได้ชัดเจนเลย การต่อผิดขั้วนั้นหมายถึงความสะเพร่าอย่างรุนแรงของผู้ต่อทีเดียว

เห็นไหมครับ การต่อแผงโซล่าเซลไว้ใช้งาน ไม่ใช่เรื่องยากน่ากลัว หรือเป็นศาสตร์เร้นลับลึกซึ้งอะไรเลย ขนาดเด็กๆ น้องๆนักเรียนชั้นประถมยังต่อได้เลย ซึ่งความจริงน้องๆ เขาซื้อไปใช้งานกันบ่อยๆ ซะด้วย เพียงแต่เป็นแผงเล็กๆ ใช้งานในการเรียนรู้โครงการวิทยาศาสตร์ของโรงเรียน ดังนั้นคงหายกังวลเกี่ยวกับการติดตั้งโซล่าเซลใช้งานแล้วนะครับ แต่ถ้าต้องการความสวยงามและเนี๊ยบในการเดินสายไฟ อย่างนั้นตามช่างไฟทั่วๆ ไปให้เขาเดินสายไฟให้ก็ได้  เห็นไหมครับ ไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าเดินทางหลายๆ บาท เพื่อให้ช่างของผมเดินทางไปแค่เสียบสายไฟให้เลย

ส่วนการตั้งแผงโซล่าเซลตำแหน่งไหนดี ก็ขอบอกว่าเป็นตำแหน่งที่ได้รับแสงอาทิตย์ดีที่สุด ก็ใช้ได้แล้ว โดยเฉพาะถ้าเราสามารถใช้วิธีปรับแผงให้หมุนตามดวงอาทิตย์ได้แค่ช่วงเช้ากับบ่ายก็พอ เท่านี้เราก็ได้ประสิทธิ์ภาพในการผลิตไฟฟ้าจากโซล่าเซลเกือบสมบูรณ์ อย่างน้อยก็มากกว่า 80% ของชั่วโมงแสงแดดในแต่ละวัน ซึ่งผมมีเทคนิคการทำและตั้งเสาแบบนี้ราคาถูกๆ ไว้ค่อยมาแนะนำในครั้งหน้า แต่ถ้าเราไม่สะดวกหรือขี้เกียจมาปรับแผงหาดวงอาทิตย์ในแต่ละวัน ก็อาจตั้งแผงหันไปทางทิศใต้เอียงประมาณ 15 องศาก็ได้ เพราะเราอยู่ทางซีกโลกเหนือนับจากเส้นศูนย์สูตร ดวงอาทิตย์เฉลี่ยเกือบทั้งปีจึงโคจรในแนวทิศใต้เล็กน้อย ถ้าตั้งแผงฟิกหรือตรึงกับที่แบบนี้ เราก็อาจจะได้ประสิทธิ์ภาพในการผลิตไฟฟ้าจากโซล่าเซลประมาณ 30-60% ของชั่วโมงแสงแดดในแต่ละวันเท่านั้นเอง ก็ลองพิจารณาดูว่าจะตั้งโซล่าเซลแบบไหน จะตั้งบนเสา บนหลังคาก็ไม่ผิดกติกาใดๆทั้งสิ้น เพียงแต่ให้พยายามวางในตำแหน่งที่ได้รับแสงแดดตกกระทบแผงให้มากที่สุด และอย่าวางให้เกะกะจนมีคนเผลอไปเหยียบหรือกิ่งไม้ตกใส่ จนแผงโซล่าเซลแตกก็แล้วกัน

บทความโดย
ศักดิ์เพ็ชร เรืองแพ 
 
กรีนพาวเวอร์

ความคิดเห็น

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า
ชัดเจนมากครับ อ่านแล้วเหน็ภาพเลย ต้องขอขอบพระคุณท่านที่ให้ความรู้