คุณก็เป็น วีรบุรุษ/วีรสตรี ช่วยลดโลกร้อนได้

คุณปรเมศวร์ กุมารบุญ
 บทความลดโลกร้อน(ได้มากที่สุด)มาเลิกรีดผ้ากันเถอะ 
โดย ปรเมศวร์ กุมารบุญ
ตอนเป็นนักเรียนผมมีชุดนักเรียน 2-3 ชุด ต้องซักต้องรีดทุกวัน แต่พอเรียนมหาวิทยาลัย ชุดหลักๆ ที่ ใส่คือเสื้อช้อปทับเสื้อกล้ามหรือเสื้อยืด และนุ่งกางเกงยีนส์ และมีเชิ้ตขาวเป็นผ้าแบบ (Wrinkle free) คือผ้าที่ไม่ต้องรีดใส่เป็นชุดนักศึกษา ผมใช้ชีวิตแบบนั้นอยู่นานโดยลืมการรีดผ้าไปเลย..
 แต่พอถึงวัยทำงาน ผมเป็นวิศวกรการแพทย์ที่บริษัทญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง เสื้อผ้า หน้า ทรงผมต้องดูน่าเชื่อถือ การรีดผ้าก็กลับมาเริ่มต้นใหม่กันอีกครั้ง ตอนนั้นผมกลับไม่ได้ให้ความสำคัญกับผ้าแบบ (Wrinkle free) เพราะต้องเลือกเลือกชุดที่ดูสวย และน่าภูมิฐานเป็นอันดับแรก แต่เมื่อรีดผ้าจนเนี้ยบเสร็จแล้วไปถึงที่ทำงานเสื้อผ้าก็ยับเหมือนเดิม จนบางครั้งคนที่ทำงานก็ทักว่าไม่ได้รีดผ้ามาทำงานเหรอ ทำให้ผมมาฉุกคิดได้ว่า “เอ๋ จริงๆ เรารีดผ้ามาทำงาน แต่พอขึ้นรถเมลล์เบียดคนพอถึงที่ทำงานเสื้อผ้าก็ยับอยู่ดี ผมมองดูเพื่อนร่วมงาน ถึงคนอื่นขับรถมาทำงานผ้าก็ยับอยู่ดี มองไปรอบๆ ก็ไม่พบว่าใครมีเสื้อผ้าที่เรียบจริงๆสักคนในตอนเก้าโมงเช้า สุดท้ายเราทุกคนก็ใช้ชีวิตอยู่ในเสื้อผ้าที่ไม่ได้เรียบจนเลิกงาน...

 เอ...หรือว่าไม่รีดผ้าเลยจะเป็นอะไรมากมั๊ยนะ?” คำถามปรากฏในความคิดผมก็เพียงเพื่อหลีกเลี่ยงการต้องรีดผ้าเพราะผมขี้เกียจ ในที่สุดผมก็เลิกรีดผ้า เมื่อพบเทคนิคหลังการซักผ้าไม่บิดน้ำ ตากมันทั้งเปียกๆ และดึงให้ตึง แดดจ้าลมแรงไม่แห้งก็ไม่รู้จะว่าไง แล้วผ้าที่ผมตากก็แห้งโดยไม่ยับมากคือพอใส่ไปทำงานได้ แล้วลักษณะการยับของมันเท่ากับที่ผมเคยรีดแล้วขึ้นรถเมล์ บางวันก็แกล้งใส่แจ๊คเก็ตทับทำเป็นหนาวแอร์ ในที่สุดผมใส่เชิ้ตไม่รีดแต่ผูกไทด์แล้วใส่เสื้อช้อปทับ ก็ดูน่าเชื่อถือดี ดูเป็นมืออาชีพ ดูอินเตอร์ แล้วในที่สุดการรีดผ้าก็ออกจากชีวิตผมไปอีกครั้ง...

วันหนึ่ง บังเอิญจริงๆ เหลือบไปเห็น ที่ใต้ชั้นวางทีวีมีเตารีดของผมถูกทิ้งไว้ ผมลุกขึ้นไปหยิบมันยกขึ้นมาดูด้วยความเอ็นดู มันมีความหลังมากมาย มันอยู่กับผมตั้งแต่เป็นนักเรียน ผมหยิบมันวางบนโต๊ะหงายหน้าเตารีดขึ้นมาดูที่ด้านล่าง มีตัวหนังสือเขียนว่า 220 V 50 Hz 1000 W ใช่แล้วตอนผมเป็นนักเรียนก็ไม่เคยอ่านเพราะไม่รู้เรื่อง ตอนเป็นเด็กวิดวะก็ไม่เคยรีดผ้า แต่วันนี้ผมเป็นวิศวกรมาสิบกว่าปี ผมเห็นแค่นั้น ผมก็ร้องจ๊ากแล้ว ไม่ใช่มันร้อน แต่พลังงานที่ใช้น่ะ มันมากมายมหาศาลเลย

220 V 50 Hz แปลว่า ใช้กับไฟบ้าน 220 โวลท์ 50 เฮิร์ซ ส่วนกำลังไฟ มันกินถึง 1,000 วัตต์ หรือ 1 กิโลวัตต์ นั่นเอง ไฟฟ้าหนึ่งหน่วยก็คือใช้ไฟ 1กิโลวัตต์ ติดต่อกันครบหนึ่งชั่วโมง กี่บาทก็ว่ากันไปแล้วแต่ยุค แล้วแต่สมัย ผมหลับตานึกถึงสมัยครอบครัวอยู่พร้อมหน้าพร้อมตา พ่อแม่ลูกสี่คน หนึ่งคนมีชุดใส่กลางวันอย่างน้อย คนละสองตัว (เสื้อ กับ กางเกง แม่ก็เป็นกระโปรง รวมแล้ว 8 ชิ้น รีดชิ้นละ 5 นาที ถ้ารีดไปดูละครไปด้วย ก็ครบ 1 ชั่วโมงหรือเกินเล็กน้อย คิดว่าเสียไฟฟ้า 1 หน่วยพอดี (1 kW) ผมไม่ได้คำนวนเพราะห่วงเรื่องเงินทองอะไร แต่ผมจะชี้ให้เห็นความอัจฉริยะของผม (แหะแหะ ฮา) ในขณะที่บางคนต่อสู้เรียกร้องให้สร้างเขื่อนเพิ่ม บางคนก็ต่อต้านการสร้างเขื่อนเพิ่ม แต่ผมจะเสนอมาตรการ มาทุบเขื่อนทิ้งกันเถอะ บ้านเรามีการผลิตไฟฟ้ามากเกินไปแล้ว “เมื่อเราเลิกรีดผ้า”…

 ผมกดเครื่องคิดเลขเล่นๆ สมมุติว่า 1 ครอบครัว รีดผ้าใช้ไฟฟ้าโดยเฉลี่ย 1 กิโลวัตต์ ต่อวัน แล้วใน 1 ปี เฉลี่ย 360 วัน เท่ากับใช้ไฟฟ้า 360 กิโลวัตต์ต่อครัวเรือน เมื่อ 1 ครอบครัวใช้ไฟฟ้า 360 กิโลวัตต์ ต่อปี   ดังนั้นคนไทยทั้งประเทศ 20 ล้านครัวเรือน จะใช้ไฟจากการรีดผ้าเท่ากับ 7,200,000,000 กิโลวัตต์ ต่อปี... หรือ 7,200,000 เม็กกะวัตต์ ต่อปี จากตัวเลขที่คำนวณได้ก็ อือๆ ไปงั้น เพราะไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วมันมากหรือน้อย  เลยเข้า กูเกิล หาข้อมูลโรงฟ้ามาเปรียบเทียบให้เห็นภาพดีฝ่า ผมพบว่า  โรงไฟฟ้าเล็กๆ หลายๆ โรงรวมกันยังไม่พอผลิตไฟฟ้าให้พวกเรารีดผ้ากันเลย

ในส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนนั้น ความสำคัญของเขื่อนที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันนั้น มิใช่มีเพียงแค่ผลิตไฟฟ้านะครับ แต่เกี่ยวเนื่องกับการจัดการบริหารทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนป้องกันภัยพิบัติได้อย่างมหาศาล  ในความเป็นจริง คนชนบทที่โรงไฟฟ้าที่คนเมืองใช้ไฟฟ้าเพื่อรีดผ้ามักไปตั้งใกล้บ้านพวกเขานั้น ทั้งเด็กนักเรียนและผู้ใหญ่ชาวบ้านก็ตาม แน่นอนพวกเขาก็คงไม่ได้รีดผ้า จากการคำนวณมั่วๆ ของผมถึงการใช้ไฟฟ้าในประเทศจากการรีดผ้า ก็คงผิดๆ ถูกๆ แต่นั่นคงไม่ใช่สาระสำคัญ เพียงแต่หากทุกคนเชื่อได้ว่าหากเราเลิกรีดผ้า คงลดการใช้พลังงานน้อยลง   แน่นอนสำหรับชีวิตผม การเลิกรีดผ้ากลายเป็นค่านิยมในอารมณ์ขัน และอุดมการณ์ที่ผมยึดมั่นมาหลายปีแล้ว แต่ผมเคยฝันนะครับว่า จะเป็นไปได้หรือไม่ที่ผมจะทำให้ความแปลกประหลาดของผมกับการไม่รีดผ้ากลายเป็นค่านิยม 


อันที่จริงเมื่อพิจารณาลงลึกๆแล้ว การรีดผ้าคือค่านิยมเท่านั้นเอง บทความนี้อย่างน้อยอาจปรับความคิดพวกเราใหม่ ให้เกิดความเข้าใจใหม่ต่อปัญหาสังคมโลก ให้เห็นปฏิสัมพันธ์ของการผลิตไฟฟ้า ภาวะโลกร้อน และพฤติกรรมรักสวยรักงามของมนุษย์ หากคุณอ่านบทความนี้จบแล้ว คุณพบคนที่ไม่รีดผ้าหรือคุณกำลังคิดจะรีดผ้ากับภาวะโลกร้อนเยี่ยงนี้ อยากให้ทุกท่านจดจำและคำนึงถึงบทความนี้ตลอดเวลา จนกว่าความคิดจะสุกงอม เพราะมันก็ไม่แน่หรอกถ้าในเดือนหน้าพวกเราเดินไปพบใครคนหนึ่งที่ไม่รีดผ้า เขาคนนั้นอาจทำให้เรารู้สึกว่า เขาควรค่าแก่การยกย่องในสังคม เขาคือผู้เสียสละในภาวะโลกร้อน เขาคือผู้ต่อสู้กับบรรยากาศโลกแปรปรวนให้โลกสงบสุข เขาคือหมอที่กำลังรักษาโลกที่กำลังป่วย และเขาคือวีรบุรุษ วีรสตรีผู้นำการเปลี่ยนแปลงค่านิยมที่จะกู้วิกฤตโลกร้อน กิจกรรมนี้จะแสดงพลังให้เห็นถึงความสามัคคีร่วมมือสมานฉันท์ของคนทั้งโลกที่จับมือกันแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างเป็นรูปธรรม มาร่วมกับผมเป็นวีรบุรุษของโลกที่แอบทำความดีเงียบๆ ให้คนที่เรารักบนโลกนี้ ทำสิ่งดีๆ สิ่งนี้ให้คุณ ให้เพื่อนคุณ แม้แต่คนที่คุณไม่ชอบเขาก็คงจะแอบรู้ว่า คุณไม่รีดผ้าก็เพื่อเขา... 

         
ความรู้สึกดีๆ หลากหลายจะเกิดขึ้นกับคุณต่อไป เมื่อคุณเดินไปพบ “คนกล้าที่ไม่รีดผ้า”...



บทความนี้ผู้เขียนจะไม่ถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าช่วยกันคัดลอกบทความเผยแพร่ต่อไปให้มากที่สุด และช่วยตัดแปะตามองค์กรของท่านด้วย จะเป็นพระคุณยิ่ง
ปรเมศวร์ กุมารบุญ


อ่านบทความนี้คุณรู้สึกอย่างไรบ้าง  ผมเองก็เลิกใส่ผ้าที่ต้องรีดมานานกว่า 5  ปีแล้ว นอกจากประหยัดไฟฟ้า ประหยัดเงินแล้ว สิ่งที่ผมได้เพิ่มขึ้นมากที่สุดคือ เวลา ครับ

ความคิดเห็น