|
ตำลึง หรือตำลึงตัวเมีย |
ตำลึง เป็นผักริมรั้วที่คนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดี เป็นผักชนิดหนึ่งที่นิยมนำมารับประทานมาก ส่วนใหญ่จะนิยมทำแกงจืด ตำลึงส่วนใหญ่ที่นำมากินกันส่วนใหญ่มักจะงอกขึ้นมาเองโดยไม่ต้องปลูก แต่ถ้าดูแลซักนิดนึงก็จะสามารถเก็บยอดอ่อนตำลึงกินได้เรื่อยๆ แถมต้นตำลึงริมรั้วเป็นต้นไม้ที่มีสารอาหารสูง ประโยชน์เยอะและไม่ค่อยพบสารเคมีตกค้างมากเหมือนผักชนิดอื่น
|
ตำลึงตัวผู้ ใบจะหยักเว้าลึกกว่าตำลึงตัวเมีย |
ในธรรมชาติเราจะพบตำลึงอยู่ 2 ชนิดคือ ตำลึงตัวผู้ซึ่งใบจะมีหยักเว้าลึกชัดเจน ส่วนตำลึงตัวเมียใบจะมีหยักตื้นกว่าอย่างเห็นได้ชัด แต่ทั้งนี้ตำลึงทั้ง 2 ชนิดสามารถนำมาทำอาหารหรือทำยา และมีสารอาหารใกล้เคียงไม่แตกต่างกันมากนัก
|
ดอกตำลึง |
ตำลึงเป็นไม้เถาล้มลุกอายุยืนหลายปี ตามข้อของเถาตำลึงจะมีมือคล้ายรากใช้ยึดเกาะเลื้อยไปตามสิ่งแวดล้อมที่มันอาศัย ทั้งตำลึงตัวผู้และตำลึงตัวเมียมีผลและดอกลักษณะเหมือนหรือคล้ายกัน ดอกตำลึงมีสีขาว ผลตำลึงขณะอ่อนมีสีเขียว เมื่อสุกแก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีแดง
|
ผลตำลึงอ่อน |
การปลูกตำลึง สามารถใช้วิธีวิธีเพาะเมล็ดหรือเพาะชำเถาแก่ก็ได้ ตำลึงชอบดินร่วนที่มีอินทรีย์วัตถุเยอะๆ ชอบน้ำดังนั้นควรหมั่นรดน้ำอย่าให้ดินปลูกแห้งแต่ตำลึงไม่ชอบน้ำท่วมขัง ถ้าจะปลูกตำลึงให้ได้ผลดีควรทำค้างไว้ให้ตำลึงยึดเกาะด้วย โดยตำลึงจะเติบโตและให้ยอดอ่อนดีมากในฤดูฝน
|
ผลตำลึงสุก |
สรรพคุณทางยาของตำลึง ในตำรายาไทยระบุว่า ตำลึงเป็นยาเย็นดับพิษร้อน ใช้แก้ตาช้ำ ปวดตา แก้โรคตาต่างๆ ใช้ถอนพิษ แก้ฝี โดยใช้ส่วนต่างๆ ของต้นตำลึง ดังนี้
- ใบตำลึงใช้แก้ปวดแสบปวดร้อน แก้คัน แก้โรคผิวหนัง แก้ไข้หวัด ถอนพิษไข้ แก้เริมช่วยย่อยอาหาร แก้หลอดลมอักเสบ แก้โรคตา รักษาเลือดออกตามไรฟัน แก้โลหิตจาง
- ใบตำลึงตัวผู้ ใช้ผสมยาเขียวใช้แก้ไข้ แก้พิษจากขนพืชหรือสัตว์ต่างๆ
- รากของตำลึงใช้ลดความร้อนแก้ไข้ทุกชนิด แก้พิษ แก้โรคตา
- ผลตำลึงใช้แก้เจ็บเส้น ลิ้นเป็นแผล แก้ฝีแดง ทั้งต้น มีรสเย็น แก้โรคผิวหนัง แก้มะเร็ง ลดน้ำตาลในเลือด แก้โรคหัวใจ
|
ยอดอ่อนของตำลึง ใช้ทำอาหาร |
คุณค่าทางอาหารของตำลึง ในตำลึงทั้งตัวผู้และตัวเมียมีเส้นใยอาหารเยอะมาก จึงช่วยในการขับถ่ายได้ดี กินแล้วสบายท้อง พบว่าการกินอาหารประเภทผักที่มีเส้นใยเยอะๆ อย่างตำลึงจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ได้เป็นอย่างมาก จากข้อมูลของกองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มีการศึกษาพบว่าในใบและยอดอ่อนของตำลึง มีสารอาหารและคุณค่าทางโภชนาสูงมาก ได้แก่ โปรตีน , คาร์โบไฮเดรต , กากใยอาหาร , วิตามินบี 1 วิตามิน บี3 , วิตามินซี , แคลเซียม , ฟอสฟอรัส, เหล็ก , เบตาแคโรทีน และ วิตามินเอ
|
ต้นตำลึง |
ดังนั้นหากพบว่ามีต้นตำลึงมางอกอยู่ริมรั้วข้างบ้าน ก็อย่าคิดว่ามันคือวัชพืชที่ต้องทำลายทิ้ง หรือหากมีพื้นที่ว่างๆ ปลูกต้นตำลึงไว้เก็บยอดอ่อนเอามาทำอาหารกินบ่อยๆ นอกจากจะประหยัดค่าใช้จ่ายได้แล้ว เรายังได้คุณค่าทางโภชนาสูงมากเพียงแต่อย่าตั้งไฟนานเกินไปเดี๋ยวสารอาหารจะสูญเสียเพราะความร้อนหมด กินตำลึงบ่อยๆ ดีต่อสายตาด้วย ปลูกครั้งเดียวดูแลดีๆ ก็เก็บกินได้นานหลายปี
|
ยอดอ่อนตำลึงเตรียมทำแกงเลียง |
ติดตามสาระดีๆ อีกมากมายได้ที่ http://tourthai.online
สามารถสมัครเป็นเพื่อนทางไลน์ หรือช่องทาง https://lin.ee/dcUb0ed จะได้ไม่พลาดข่าวสารใหม่ๆ ที่อัพเดททุกวันเขียนโดย ศักดิ์เพ็ชร เรืองแพ
ความคิดเห็น